วันจันทร์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2557

การศึกษาในศตวรรษที่ 21

การศึกษาในศตวรรษที่ 21  (21st Century Education)


          ศตวรรษที่ 21 เป็นยุคที่โลกต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และข้อมูลข่าวสารทุกอย่างก็ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงรอบตัวเราอีกต่อไป เราสามารถก้าวข้ามพรมแดนไปได้ทุกมุมโลกเพียงปลายนิ้วสัมผัส ซึ่งวงการการศึกษาทั่วโลกต่างก้าวพ้นรูปแบบการเรียนการสอนที่ใช้ครูเป็นศูนย์กลาง  มาเป็นการเรียนรู้ในแบบกระบวนทัศน์ใหม่  เรียกได้ว่าเป็นการจัดการศึกษายุคฐานแห่งเทคโนโลยี หรือ Technology  Based  Paradigm

ลักษณะของเด็กสมัยใหม่มี 8 ลักษณะ ดังนี้
1.มีอิสระที่จะเลือกสิ่งที่ตนพอใจ แสดงความเห็น และลักษณะเฉพาะของตน
2.ต้องการดัดแปลงสิ่งต่าง ๆ ให้ตรงตามความพอใจและความต้องการของตน (customization & personalization)
3.ตรวจสอบหาความจริงเบื้องหลัง (scrutiny)
4.เป็นตัวของตัวเองและสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เพื่อรวมตัวกันเป็นองค์กร เช่น ธุรกิจ รัฐบาล และสถาบันการศึกษา
5.ความสนุกสนานและการเล่นเป็นส่วนหนึ่งของงาน การเรียนรู้และชีวิตทางสังคม
6.การร่วมมือ และความสัมพันธ์เป็นส่วนหนึ่งของทุกกิจกรรม
7.ต้องการความเร็วในการสื่อสาร การหาข้อมูล และตอบคำถาม
8.สร้างนวัตกรรมต่อทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต



ปัจจัยสำคัญด้านการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21

1. Authentic learning  
          การเรียนรู้ที่แท้จริงอยู่ในโลกจริงหรือชีวิตจริง การเรียนวิชาในห้องเรียนยังไม่ใช่การเรียนรู้ที่แท้จริง ยังเป็นการเรียนแบบสมมติ ดังนั้น ครูเพื่อศิษย์จึงต้องออกแบบการเรียนรู้ให้ศิษย์ได้เรียนในสภาพที่ใกล้เคียงชีวิตจริงที่สุด การเรียนรู้ขึ้นอยู่กับบริบทหรือสภาพแวดล้อม ในขณะเรียนรู้ห้องเรียนไม่ใช่บริบทที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้ในมิติที่ลึก เพราะห้องเรียนไม่เหมือนสภาพในชีวิตจริง การสมมติโจทย์ที่คล้ายจะเกิดในชีวิตจริงก็ได้ความสมจริงเพียงบางส่วน แต่หากไปเรียนในสภาพจริงก็จะได้การเรียนรู้ในมิติที่ลึกและกว้างขวางกว่าสภาพสมมติ
          การออกแบบการเรียนรู้ให้ศิษย์เกิด “การเรียนรู้ที่แท้จริง” (authentic learning) เป็นความท้าทายต่อครูเพื่อศิษย์ ในสภาพที่มีข้อจำกัดด้านเวลาและทรัพยากรอื่นๆ รวมทั้งจากความเป็นจริงว่า เด็กนักเรียนในเมืองกับในชนบทมีสภาพแวดล้อมและชีวิตจริงที่แตกต่างกันมาก

2. Mental Model Building
          การเรียนรู้ในระดับสร้างกระบวนทัศน์ เป็นการเรียนรู้วิธีการนำเอาประสบการณ์มาสั่งสมจนเกิดเป็นกระบวนทัศน์ (หรือความเชื่อ ค่านิยม) และที่สำคัญคือ สั่งสมประสบการณ์ใหม่ แล้วนำมาโต้แย้งความเชื่อหรือค่านิยมเดิม ทำให้ละจากความเชื่อเดิม หันมายึดถือความเชื่อหรือกระบวนทัศน์ใหม่เป็นการเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน ทำให้เป็นคนที่มีความคิดเชิงกระบวนทัศน์ชัดเจน และเกิดการเรียนรู้เชิงกระบวนทัศน์ใหม่ได้ การจะมีทักษะหรือความสามารถ จะต้องมีความสามารถรับรู้ข้อมูลหลักฐานใหม่ๆ
และนำมาสังเคราะห์เป็นความรู้เชิงกระบวนทัศน์ใหม่ได้

3. Internal Motivation
          การเรียนรู้ที่แท้จริงมีการผลักดันด้วยฉันทะ ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่ภายในตัวคน ไม่ใช่ผลักดันด้วยอำนาจของครูหรือพ่อแม่ เด็กที่เรียนเพราะไม่อยากขัดใจครูหรือพ่อแม่ จะเรียนได้ไม่ดีเท่าเด็กที่เรียน เพราะอยากเรียน เมื่อเด็กมีฉันทะและได้รับการส่งเสริมที่ถูกต้องจากครู วิริยะ จิตตะและวิมังสา (อิทธิบาทสี่) ก็จะตามมา ทำให้เกิดการเรียนรู้ในมิติที่ลึกซึ้งและเชื่อมโยง

4. Multiple Intelligence
          มนุษย์มีพหุปัญญา (Multiple Intelligence) และเด็กแต่ละคนมีความถนัดหรือปัญญาที่ติดตัวมาแต่กำเนิดต่างกัน รวมทั้งวิธีการในการเรียนรู้ก็ต่างกัน ดังนั้น จึงเป็นความท้าทายต่อครูเพื่อศิษย์ในการจัดการเรียนรู้โดยคำนึงถึงความแตกต่างของเด็กแต่ละคน และจัดให้การเรียนรู้ส่วนหนึ่งเป็นการเรียนรู้เฉพาะตัว (personalized learning) ตัวอย่างเช่น Universal Design for Learning คือ เครื่องมือสร้างความยืดหยุ่นหลากหลายในการออกแบบการเรียนรู้นั่นเอง

5. Social Learning
          การเรียนรู้เป็นกิจกรรมทางสังคม ครูเพื่อศิษย์จะสามารถออกแบบกระบวนการทางสังคม เพื่อให้ศิษย์เรียนสนุก และเกิดนิสัยรักการเรียน เพราะการเรียนจะไม่ใช่กิจกรรมส่วนบุคคลที่น่าเบื่ออีกต่อไป




บทบาทของการศึกษาในศตวรรษที่ 21 มี 4 บทบาท ดังนี้
1.เพื่อการทำงานและเพื่อสังคม
2.เพื่อฝึกฝนสติปัญญาของตน
3.เพื่อทำหน้าที่พลเมือง
4.เพื่อสืบทอดจารีตและคุณค่า

          การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ต้อง “ก้าวข้ามสาระวิชา” ไปสู่การเรียนรู้ “ทักษะเพื่อการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21” ( 21st Century Skills) ที่ครูสอนไม่ต้องสอน นักเรียนต้องเรียนเอง แต่ครูต้องออกแบบ
การเรียนรู้ และอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ให้นักเรียนเรียนรู้จากการเรียนแบบลงมือทำ แล้วการเรียนรู้ก็จะเกิดจากภายในใจและสมองของตนเอง การเรียนรู้แบบนี้เรียกว่า PBL (Project-Based Learning) ครูเพื่อศิษย์ต้องเรียนรู้ทักษะในการออกแบบการเรียนรู้แบบ PBL ให้เหมาะแก่วัยหรือพัฒนาการของศิษย์
           สาระวิชาก็มีความสำคัญ แต่ไม่เพียงพอสำหรับการเรียนรู้เพื่อมีชีวิตในโลกยุคศตวรรษที่ 21 ปัจจุบันการเรียนรู้สาระวิชา ควรเป็นการเรียนจากการค้นคว้าเองของศิษย์ โดยครูช่วยแนะนำ และช่วยออกแบบกิจกรรมที่ช่วยให้นักเรียนแต่ละคนสามารถประเมินความก้าวหน้าของการเรียนรู้ของตนเองได้

ทักษะเพื่อการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21 ได้แก่
1. สาระวิชาหลัก
    • ภาษาแม่ และภาษาโลก
    • ศิลปะ
    • คณิตศาสตร์
    • เศรษฐศาสตร์
    • วิทยาศาสตร์
    • ภูมิศาสตร์
    • ประวัติศาสตร์
    • รัฐ และความเป็นพลเมืองดี
หัวข้อสำหรับศตวรรษที่ ๒๑
    • ความรู้เกี่ยวกับโลก
    • ความรู้ด้านการเงิน เศรษฐศาสตร์ ธุรกิจ และการเป็นผู้ประกอบการ
    • ความรู้ด้านการเป็นพลเมืองดี
    • ความรู้ด้านสุขภาพ
    • ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม
2, ทักษะด้านการเรียนรู้และนวัตกรรม
    • ความริเริ่มสร้างสรรค์และนวัตกรรม
    • การคิดอย่างมีวิจารณญาณและการแก้ปัญหา
    • การสื่อสารและการร่วมมือ
3. ทักษะด้านสารสนเทศ สื่อ และเทคโนโลยี
    • ความรู้ด้านสารสนเทศ
    • ความรู้เกี่ยวกับสื่อ
    • ความรู้ด้านเทคโนโลยี
4. ทักษะชีวิตและอาชีพ
    • ความยืดหยุ่นและปรับตัว
    • การริเริ่มสร้างสรรค์และเป็นตัวของตัวเอง
    • ทักษะสังคมและสังคมข้ามวัฒนธรรม
    • การเป็นผู้สร้างหรือผลิต (productivity) และความรับผิดรับชอบเชื่อถือได้ (accountability)
    • ภาวะผู้นำและความรับผิดชอบ (responsibility)
นอกจากนั้นโรงเรียนและครูต้องจัดระบบสนับสนุนการเรียนรู้ ดังนี้
    • มาตรฐานและการประเมินในยุคศตวรรษที่ 21
    • หลักสูตรและการเรียนการสอนสำหรับศตวรรษที่ 21
    • การพัฒนาครูในศตวรรษที่ 21

    • สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเรียนในศตวรรษที่ 21



          ทักษะของคนในศตวรรษที่ 21 ที่คนทุกคนต้องเรียนรู้ตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงมหาวิทยาลัย และตลอดชีวิต คือ 3R x 7C
3R ได้แก่ 
1. Reading คือ อ่านออก
2. (W)Riting คือ เขียนได้
3. (A)Rithmetics คือ คิดเลขเป็น
7C ได้แก่ 
1. Critical thinking & problem solving คือ ทักษะด้านการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และทักษะในการแก้ปัญหา
2. Creativity & innovation คือ ทักษะด้านการสร้างสรรค์ และนวัตกรรม
3. Cross-cultural understanding คือ ทักษะด้านความเข้าใจต่างวัฒนธรรม ต่างกระบวนทัศน์
4. Collaboration, teamwork & leadership คือ ทักษะด้านความร่วมมือ การทำงานเป็นทีม และภาวะผู้นำ
5. Communications, information & media literacy คือ ทักษะด้านการสื่อสาร สารสนเทศ และรู้เท่าทันสื่อ
6. Computing & ICT literacy คือ ทักษะด้านคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
7. Career & learning skills คือ ทักษะอาชีพ และทักษะการเรียนรู้
          การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 คือ การเรียนรู้ 3R x 7C ครูเพื่อศิษย์เองต้องเรียนรู้ 3R x 7C และต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต แม้จะเกษียณอายุจากการเป็นครูประจำการไปแล้ว เพราะเป็นการเรียนรู้เพื่อชีวิตของตนเอง ระหว่างเป็นครูประจำการก็เรียนรู้สำหรับเป็นครูเพื่อศิษย์ และ เพื่อการดำรงชีวิตของตนเอง




พลังสมอง 5 ด้าน    มีทั้งพลังเชิงทฤษฎี (cognitive mind) และ พลังด้านมนุษย์สัมผัสมนุษย์ การเรียนรู้เพื่อพัฒนาสมอง 5 ด้าน ไม่ได้ดำเนินการแบบแยกส่วน แต่เรียนรู้ทุกด้านไปพร้อมๆ กัน หรือ การเรียนรู้แบบบูรณาการ และ ไม่ใช่เรียนจากการสอน แต่ให้เด็กเรียนจากการลงมือทำเอง ซึ่งครูมีความสำคัญมาก เพราะเด็กจะเรียนได้อย่างมีพลัง ครูต้องทำหน้าที่ออกแบบการเรียนรู้ และช่วยเป็นอำนวยความสะดวก หรือเป็นโค้ชให้นักเรียน ครูที่เก่งและเอาใจใส่จะช่วยให้นักเรียนเรียนรู้ได้ลึกและเชื่อมโยง นี่คือ มิติทางปัญญา 
1. สมองด้านวิชาและวินัย (Disciplined mind)
          คำว่า disciplined มีได้ 2 ความหมาย คือหมายถึง มีวิชาเป็นรายวิชาก็ได้ และ หมายถึง เป็นคนมีระเบียบวินัยบังคับตัวเองให้เรียนรู้ เพื่ออยู่ในพรมแดนความรู้ก็ได้ ในที่นี้ หมายถึงมีความรู้และทักษะในวิชาในระดับที่เรียกว่าเชี่ยวชาญและสามารถพัฒนาตนเองในการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา
          หลักการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 คำว่า เชี่ยวชาญ ในโรงเรียน หรือในการเรียนรู้ของเด็ก ต้องคำนึงถึงบริบท โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริบทของการเจริญเติบโตทางสมองของเด็ก คำว่า เชี่ยวชาญ ในวิชา
คณิตศาสตร์สำหรับเด็ก 6 ขวบ กับเด็ก 12 ขวบต่างกันมาก และต้องไม่ลืมว่าเด็กบางคนอายุ 10 ขวบ แต่ความเชี่ยวชาญด้านคณิตศาสตร์ของเขาเท่ากับเด็กอายุ 13 ขวบ หรือในทางตรงกันข้าม เด็กบางคน
อายุ 10 ขวบ แต่ความเชี่ยวชาญทางคณิตศาสตร์ที่เขาสามารถมีได้เท่ากับเด็กอายุ 7 ขวบ คำว่า เชี่ยวชาญ หมายความว่า ไม่เพียงรู้สาระของวิชานั้น แต่ยังคิดแบบผู้ที่เข้าถึงจิตวิญญาณของวิชานั้น คนที่เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ ไม่เพียงรู้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ แต่ยังคิดแบบนักประวัติศาสตร์ด้วย
เป้าหมายคือ การเรียนรู้แก่นวิชา ไม่ใช่จดจำสาระแบบผิวเผิน แต่รู้แก่นวิชาจนสามารถเอาไปเชื่อมโยงกับวิชาอื่นได้ และสนุกกับมันจนหมั่นติดตามความก้าวหน้าของวิชาไม่หยุดยั้ง

2. สมองด้านสังเคราะห์ (Synthesizing mind)
          ความสามารถในการรวบรวมสารสนเทศและความรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง นำมากลั่นกรองคัดเลือกเอามาเฉพาะส่วนที่สำคัญ และจัดระบบนำเสนอใหม่อย่างมีความหมาย คนที่มีความสามารถสังเคราะห์เรื่องต่างๆ ได้ดีเหมาะที่จะเป็นครู นักสื่อสาร และผู้นำ ครูต้องจัดให้ศิษย์ได้เรียนเพื่อพัฒนาสมองด้านสังเคราะห์ ซึ่งต้องเรียนจากการฝึกเป็นสำคัญ และครูต้องแสวงหาทฤษฎีเกี่ยวกับการสังเคราะห์มาใช้
ในขั้นตอนของการเรียนรู้จากการทบทวนไตร่ตรอง (reflection) หรือ AAR หลังการทำกิจกรรมเพื่อฝึกหัด เพราะการฝึกสมองด้านสังเคราะห์ ต้องออกแบบการเรียนรู้ให้ ปฏิบัตินำ ทฤษฎีตาม และการสังเคราะห์กับการนำเสนอเป็นสิ่งที่คู่กัน การนำเสนอมีได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งนำเสนอเป็นเรียงความ การนำเสนอด้วยสื่อมัลติมีเดีย (multimedia presentation) เป็นภาพยนตร์สั้น เป็นละคร ฯลฯ

3. สมองด้านสร้างสรรค์ (Creating mind)
          เป็นทักษะที่คนไทยขาดมากที่สุด โดยคุณสมบัติสำคัญที่สุดของสมองสร้างสรรค์คือ คิดนอกกรอบ แต่การที่จะคิดนอกกรอบเก่งได้ต้องเก่งความรู้ในกรอบเสียก่อน แล้วจึงคิดออกไปนอกกรอบนั้น ถ้าคิดนอกกรอบโดยไม่มีความรู้ในกรอบเรียกว่า คิดเลื่อนลอย คนที่มีความรู้และทักษะอย่างดีเรียกว่า ผู้เชี่ยวชาญ ต่างจากผู้สร้างสรรค์ตรงที่ผู้สร้างสรรค์ทำสิ่งใหม่ๆ ออกไปนอกขอบเขตหรือวิธีการเดิมๆ โดยมีจินตนาการแหวกแนวไป และการสร้างสรรค์ต้องใช้สมองหรือทักษะอื่นๆ ทุกด้านมาประกอบกัน
           การสร้างสรรค์ที่ยิ่งใหญ่มักเป็นผลงานของคนอายุน้อย เพราะคนอายุน้อยมีธรรมชาติติดกรอบน้อยกว่าคนอายุมาก เป็นเครื่องบ่งชี้ว่า การมีความรู้เชิงวิชาและวินัย รวมถึงความรู้เชิงสังเคราะห์มากเกินไปอาจลดทอนความสร้างสรรค์ก็ได้ และเป็นที่เชื่อกันว่าความสร้างสรรค์นั้นเรียนรู้ หรือฝึกได้ ครูเพื่อศิษย์จึงต้องหาวิธีฝึกฝนความสร้างสรรค์ให้แก่ศิษย์
           สมองที่สร้างสรรค์คือ สมองที่ไม่เชื่อว่าวิธีการหรือสภาพซึ่งถือว่าดีที่สุดที่มีอยู่นั้น ถือเป็นที่สุดแล้ว เป็นสมองที่เชื่อว่ายังมีวิธีการหรือสภาพที่ดีกว่าอย่างมากมายซ่อนอยู่ หรือรอปรากฏตัวอยู่ แต่สภาพหรือวิธีการเช่นนั้นจะเกิดได้ ต้องละจากกรอบวิธีคิดหรือวิธีดำเนินการแบบเดิมๆ ศัตรูสำคัญที่สุดของความคิดสร้างสรรค์ คือ การเรียนแบบท่องจำ เปรียบเทียบสมอง 3 แบบข้างต้นได้ว่า สมองด้านวิชาและวินัยเน้นความลึก (depth) สมองด้านการสังเคราะห์เน้นความกว้าง (breath) และ สมองด้านสร้างสรรค์เน้นการขยายหรือฝืน (stretch)

4. สมองด้านเคารพให้เกียรติ (Respectful mind)
          คุณสมบัติด้านเคารพให้เกียรติผู้อื่นมีความจำเป็นในยุคโลกาภิวัตน์ที่ผู้คนเคลื่อนไหวเดินทางและสื่อสารได้ง่าย คนเราจึงต้องพบปะผู้อื่นจำนวนมากขึ้นอย่างมากมาย และเป็นผู้อื่นที่มีความแตกต่างหลากหลาย ทั้งด้านกายภาพ นิสัยใจคอ วัฒนธรรมความเป็นอยู่ ความเชื่อ ศาสนา มนุษย์ในศตวรรษที่ 21 จึงต้องเป็นคนที่สามารถคุ้นเคยและให้เกียรติคนที่มีความแตกต่างจากที่ตนเคยพบปะได้ ที่สำคัญ คือ ต้องไม่มีอคติ ทั้งด้านลบและด้านบวกต่อคนต่างเชื้อชาติ ต่างศาสนา ต่างความเชื่อ
          ครูเพื่อศิษย์จะฝึกฝนสมองด้านนี้ของศิษย์อย่างไร หากศิษย์ของท่านเป็นเด็กมุสลิม เป็นเด็กในเมือง เป็นเด็กชนเผ่า นี่คือ ความท้าทาย หากโรงเรียนของท่านมีเด็กนักเรียนจากหลากหลายวัฒนธรรม การจัดการเรียนรู้น่าจะง่ายขึ้น แต่ในกรณีที่นักเรียนในโรงเรียนที่ท่านสอนเป็นเด็กจากวัฒนธรรมและชนชั้นเดียวกัน ครูจะจัดให้เด็กเรียนรู้เพื่อพัฒนาสมองด้านนี้อย่างไร นับเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง

5. สมองด้านจริยธรรม (Ethical mind)
          ทักษะเชิงนามธรรม เรียนรู้ซึมซับได้โดยการชวนกันสมมติและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกันว่าตัวเองเป็นอย่างไรในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง และหากคนทั้งโลกเป็นอย่างนี้หมด โลกจะเป็นอย่างไร รวมทั้งอาจเอาข่าวเรื่องใดเรื่องหนึ่งขึ้นมาคุยกัน ผลัดกันออกความเห็นว่าพฤติกรรมในข่าวก่อผลดี หรือผลเสียต่อการอยู่รวมกันเป็นสังคมที่มีสันติสุขอย่างไร



ทักษะด้านการเรียนรู้และนวัตกรรม (Learning and Innovation Skills) 
          ทักษะพื้นฐานที่มนุษย์ในศตวรรษที่ 21 ทุกคนต้องเรียน เพราะโลกจะยิ่งเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้นเรื่อย ๆ และมีความซับซ้อนมากขึ้น คนที่อ่อนแอในทักษะด้านการเรียนรู้และนวัตกรรมจะเป็นคนที่ตามโลกไม่ทัน เป็นคนอ่อนแอ ชีวิตก็จะยากลำบาก ครูเพื่อศิษย์จึงต้องเอาใจใส่ พัฒนาขีดความสามารถของตนเองในด้านนี้ ให้สามารถออกแบบการเรียนรู้เพื่อให้ศิษย์เรียนรู้และพัฒนาทักษะของตนเองในด้านการเรียนรู้และนวัตกรรมได้ตลอดชีวิต
          วิธีออกแบบการเรียนรู้ให้ศิษย์มีทักษะนี้ ต้องใช้หลักการ คือ ต้องมีการเรียนรู้แบบที่เด็กร่วมกันสร้างความรู้เองคือ เรียนรู้โดยการสร้างความรู้ และ เรียนรู้เป็นทีม ประกอบด้วยทักษะย่อยๆ ดังนี้
1.การคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical thinking) และการแก้ปัญหา (Problem solving) หมายถึง การคิดอย่างผู้เชี่ยวชาญ (Expert thinking)
2.การสื่อสาร (Communication) และความร่วมมือ (Collaboration) หมายถึง การสื่อสารอย่างซับซ้อน (Complex communicating)
3.ความริเริ่มสร้างสรรค์ (Creativity) และนวัตกรรม (Innovation) หมายถึง การประยุกต์ใช้จินตนาการและการประดิษฐ์

การเตรียมห้องเรียน มีดังนี้
1.Sensory Details รายละเอียดที่มีผลต่อการรับรู้  ต้องเอาใจใส่“สัมผัส” ของห้องเรียน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ข้อพึงตระหนักคือ เด็กมีความไวในการรับรู้มากกว่าผู้ใหญ่ ดังนั้น สัมผัสที่ไม่พึงประสงค์ หรือไม่เป็นผลดีต่อการเรียน อาจส่งผลร้ายต่อเด็กมากกว่าที่คิด เพลง ครูสามารถเอามาเป็นเครื่องมือสร้างบรรยากาศในการเรียนรู้ได้มากมาย หลักการคือ ต้องทำให้สภาพของห้องเรียนมีคุณสมบัติ 4 อย่าง คือ มีประโยชน์ใช้สอย (functional), ให้ความรู้สึกสบาย (comfortable), ดึงดูดให้เข้ามาในห้อง (welcoming) และ
สร้างแรงบันดาลใจ (inspiring) ผนังห้องไม่ควรปล่อยให้เปล่าเปลือย เพราะไม่ช่วยกระตุ้นความสนใจใคร่รู้ของเด็ก การตกแต่งด้วยรูปธรรมชาติ รูปคน ภาษิตคำคม ฯลฯ จะช่วยกระตุ้นจินตนาการและแรงบันดาลใจของเด็ก 
2. Seating Arrangement การจัดที่นั่งเรียงโต๊ะนักเรียน  การจัดโต๊ะนักเรียนจัดได้หลายแบบ โดยมีหลักการสำคัญคือ ให้เกิดความสะดวกต่อการเรียนของเด็ก ให้เด็กมองจอ กระดานหน้าห้อง จอทีวี และจอมอนิเตอร์(ถ้ามี) เห็นหมดทุกคน และเพื่อความสะดวกของครูในการเคลื่อนไหวไปทุกส่วนของห้องได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งไม่ให้เกิดมุมอับสำหรับเด็กเบื่อเรียน สามารถหลบครูไปทำอย่างอื่น การจะจัดห้องเรียนนั้นขึ้นกับขนาดรูปร่างของห้องและจำนวนนักเรียน เป้าหมายของการจัดคือ เพื่อให้เกิดผลดีต่อการเรียนรู้ของเด็ก สร้างความรู้สึกมีแรงบันดาลใจต่อการเรียน และสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างนักเรียนกับนักเรียน และระหว่างนักเรียนกับครู พึงตระหนักว่า วิธีจัดโต๊ะในห้องมีผลต่อบรรยากาศในห้องเรียนมาก การจัดแบบชั้นเรียน (classroom) ทำให้เกิดความรู้สึกเป็นทางการ เน้นกฎระเบียบ การจัดเป็นรูปวงกลมเป็นกลุ่ม ๆ หันหน้าไปทางหน้าห้องจะให้ความรู้สึกอิสระมากกว่า การจัดเป็นแบบสตูดิโอจะบ่งบอกว่า ห้องเรียน คือห้องทำงานร่วมกันของนักเรียน
3. Supplies and Storages วัสดุ อุปกรณ์ช่วยเรียนและที่เก็บของ  ห้องเรียนต้องมีวัสดุช่วยเรียนหรือช่วยสอน จึงต้องกำหนดที่วาง มีตู้หรือที่เก็บ ที่นักเรียนจะต้องช่วยกันเก็บ หรือมีเวรเก็บของนักเรียน เรื่องเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้เป็นการเรียนรู้และการฝึกวินัยให้แก่นักเรียนทั้งสิ้น
4. Student Information ข้อมูล ข่าวสาร สำหรับนักเรียน  ครูต้องสื่อสารกับนักเรียนอยู่เสมอทั้งโดยวาจาและเอกสารประกาศ จึงต้องเตรียมสถานที่และระบบติดประกาศที่เหมาะสม เพื่อให้นักเรียนเห็นง่าย ไม่ตกข่าว ครูควรคิดเรื่องนี้อย่างรอบคอบ เป้าหมายสำคัญคือ ใช้เป็นเครื่องมือกระตุ้นความใฝ่รู้ของนักเรียน กระตุ้นบรรยากาศตื่นตัวหรือแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ เทคนิคอย่างหนึ่งคือ ประกาศแผนการเรียนวันถัดไปไว้ล่วงหน้า หากประกาศไว้ล่วงหน้าทั้งสัปดาห์ หรือทั้งเดือน เพราะจะช่วยนักเรียนที่ขาดเรียนบางวัน และช่วยนักเรียนที่ต้องการวางแผนการเรียนของตนไว้ล่วงหน้า การทำตารางเรียนดังกล่าว ควรทำให้อ่านง่าย มีระบบสีที่แตกต่างกัน สำหรับกิจกรรมต่างกลุ่ม รวมทั้งอาจใช้ตารางเป็นตัวกระตุ้นหรือสร้างแรงจูงใจต่อพฤติกรรมที่พึงประสงค์










ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น